การเขียนบทความที่ดี นอกจากจะต้องมีเนื้อหาสาระและความน่าสนใจแล้ว สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ การตั้งชื่อบทความ เพื่อให้ผู้อ่านทราบว่าบทความที่จะเขียนนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร แต่จะทำอย่างไรให้ชื่อบทความของคุณอยู่ในความสนใจและน่าคลิกเข้าไปอ่าน วันนี้ ผู้เขียนขอมาแนะนำเทคนิคดีๆในการตั้งชื่อบทความมาฝากผู้อ่านและนักเขียนมือใหม่ทุกท่านกัน รับรองว่า หากนำเทคนิคของเราไปใช้ การเขียนบทความของคุณจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน
ลิสต์ชื่อหัวข้อที่น่าสนใจ
หากคิดชื่อหัวข้อของบทความออกมาได้หลายชื่อ บอกเลยว่า นั่นเป็นสิ่งที่ดี เพราะคุณจะได้มีโอกาสเลือกได้มากกว่าไม่มีอะไรอยู่ในหัวเลย แต่อย่าลืมว่า ทุกครั้งที่คิดออก ควรหากระดาษโน้ตสักแผ่นมาจดไว้ ไม่อย่างนั้นความคิดนี้จะหายไปกับสายลม ยกตัวอย่างเช่น ได้คีย์เวิร์ดเรื่อง ลดความอ้วน อาจจะลิสต์มาสัก 4 – 5 ชื่อ “เช่น 7 เทคนิคลดความอ้วน” “ลดความอ้วนง่ายๆด้วยสิ่งนี้” “5 วิธีลดความอ้วนตามฉบับมนุษย์เงินเดือน” “ลดความอ้วนง่ายๆไม่ต้องอดอาหาร” เป็นต้น
หากยังไม่ทราบว่าจะเลือกชื่อไหนดี แนะนำให้ร่างบทความที่จะเขียนออกมาก่อน แล้วพิจารณาดูว่าบทความที่เขียนขึ้นมีความสอดคล้องกับชื่อบทความใด เพราะบางครั้งผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนคงเคยประสบปัญหาไม่รู้ว่าจะเลือกชื่อหัวข้อแบบไหนดี ให้ลองเขียนบทความออกมาก่อนแล้วจากนั้นไอเดียการคิดชื่อหัวข้อดีๆมันก็จะตามมาเอง
การตั้งชื่อหัวข้อโดยมีตัวเลข
เคยมั้ยเวลาที่เห็นชื่อบทความประเภท “7 เทคนิคการเรียน พิชิต 4.00” “5 วิธีหุ่นสวยใน 7 วัน” จะทำให้คุณรู้สึกอยากรู้อยากเห็นและคลิกเข้ามาอ่าน นี่คือ เทคนิคหนึ่งที่ทุกคนควรรู้ ยืนยันด้วยผลการวิจัยจากต่างประเทศที่ได้ข้อสรุปว่า การตั้งชื่อบทความโดยมีตัวเลขอยู่ในหัวข้อเรื่อง จะทำให้บทความเหล่านี้ได้รับความน่าสนใจมากขึ้นถึง 2 เท่า เพราะจะทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกว่า บทความเหล่านี้เข้าถึงง่าย เข้าใจง่าย ไม่ยาวจนเกินไปและน่าจะเป็นประโยชน์ที่ควรคลิกเข้าไปติดตาม
ให้คำสัญญาต่อผู้อ่าน
สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการตั้งชื่อบทความคือ การสัญญากับผู้อ่านว่าบทความนี้จะให้ประโยชน์อย่างไร มีข้อมูลอะไรบ้าง เพื่อให้ผู้อ่านรู้สึกเกิดความเชื่อมั่นว่าหากคลิกเข้ามาอ่านในเว็บไซต์นี้ ติดตามเว็บไซต์นี้จะได้รับสาระความรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างแน่นอน ตัวอย่างเช่น “หากใครกำลังประสบปัญหาเรื่องลดน้ำหนัก คุณมาถูกที่แล้ว เพราะในบทความนี้จะบอกเคล็ดลับดีๆในการลดน้ำหนักมาฝากทุกท่านกัน” การเขียนแบบนี้จะเรียกความสนใจและน่าติดตามจากผู้อ่านได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ในช่วงตอนจบของบทความ ควรสัญญากับผู้อ่านว่า ครั้งหน้าจะนำเสนออะไรหรือมีอะไรที่น่าสนใจให้ติดตามกันบ้าง เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกอยากจะติดตามในบทความต่อๆไป โดยอาจจะจบท้ายด้วย “บทความหน้าจะนำสาระดีๆอะไรมานำเสนอ อย่าลืมติดตามชม” “บทความหน้าจะมีอะไรมานำเสนออีก ห้ามพลาด” เพื่อเป็นคำสัญญาต่อผู้อ่านว่าบทความหน้าจะมีสาระดีๆมาฝากกันอีกแน่นอน
ลองตั้งชื่อให้ขัดใจคนอ่าน
เทคนิคนี้อาจสร้างความงุนงงให้กับใครหลายคน แต่รับรองว่า สามารถใช้ได้ เพราะการเขียนบทความด้วยการตั้งชื่อหัวข้อให้ขัดใจคนอ่าน จะทำให้ผู้อ่านเกิดความสงสัยและอยากทราบว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ จนต้องคลิกเข้ามาอ่านนั่นเอง เช่น “5 เหตุผลไม่ต้องออมเงิน แต่ควรใช้เงินไปกับการท่องเที่ยว” เป็นต้น เมื่อเห็นหัวข้อแบบนี้ จะทำให้ผู้อ่านเกิดความสนใจและสงสัยว่าทำไมถึงไม่ต้องออมเงิน เพราะเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่เน้นไปที่การท่องเที่ยว แนะนำว่าไม่ควรใช่บ่อย เพราะการตั้งชื่อแนวนี้จะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายเอาได้
ใส่คำดึงดูดหรือคำเชิญชวนลงไปในบทความ
หลายคนคงเคยเห็นบทความหรือข่าวที่นำเสนอชื่อหัวข้อแบบ “เด็กไทย เจ๋ง คว้าแชมป์คณิตศาสตร์โลก” “มาดู ของหายากที่ต้องมีไว้ครอบครอง” “ที่สุดของการรอคอย ไอโฟน 8 เผยฟังก์ชั่นใหม่ล่าสุดแล้ว” บอกเลยว่า ถ้าเห็นหัวข้อเรื่องของบทความนี้เข้าไป หลายคนต้องคลิกเข้าไปอ่านกันอย่างแน่นอน เพราะคำศัพท์เหล่านี้จะสร้างแรงดึงดูดให้บทความของคุณได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรใช่บ่อย เพราะจะทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายได้เช่นกัน แต่ควรใช้เป็นครั้งคราวจะดีกว่า
ตั้งชื่อบทความโดยใช้ความกลัวของผู้อ่าน
มนุษย์ทุกคนล้วนมีความกลัวด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น นักเขียนบทความ ควรใช้จุดนี้ให้เป็นประโยชน์ วิธีการง่ายๆทำได้โดย ลองหาข่าวและสืบค้นว่าช่วงนี้ คนส่วนใหญ่กำลังให้ความสนใจหรือกำลังกลัวอะไรกันบ้าง เช่น ช่วงนี้ฤดูฝน ไข้เลือดออกกำลังระบาด ก็ควรหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับไข้เลือดออกมาเขียน เพื่อเรียกความสนใจจากผู้อ่าน ซึ่งการเขียนบทความแนวนี้จะอิงกับกระแสซะส่วนใหญ่ ดังนั้น นอกจากจะต้องทำงานแข่งกับเวลาแล้ว นักเขียนที่ดีควรระวังเรื่องข้อมูลลวงและข่าวลือกันด้วย
ทั้งหมดนี้คือ เทคนิคดีๆที่ผู้เขียนได้นำมาฝากกันในวันนี้ ใครที่สนใจก็ลองนำไปปรับใช้กันดู แต่เหนือสิ่งอื่นใด นอกจากการตั้งชื่อเรื่องให้มีความน่าสนใจแล้ว เรื่องของเนื้อหา สาระที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านก็เป็นเรื่องสำคัญที่นักเขียนคุณภาพทุกท่านไม่ควรลืม
Leave a Comment