108 วิธีหาเงินออนไลน์

ค้นหาวิธีหาเงินออนไลน์ที่ใช่สำหรับคุณ

เขียนบทความ อย่างไรให้คนอ่านถูกใจ

การเขียนบทความ เป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับการหารายได้เสริมหรือบางคนก็สามารถทำเป็นรายได้หลักได้เลย แต่ทว่า…การเขียนบทความขายก็ไม่ใช่งานที่ใครๆก็สามารถทำได้ง่ายๆ เพราะหากขึ้นชื่อว่างานเขียนก็ย่อมมีลายเส้นและสไตล์การเขียนเป็นของตนเอง ความยากง่ายจึงขึ้นอยู่กับการฝึกฝน มุ่งมั่นในการพัฒนาของแต่ละคน วันนี้ ผู้เขียนจึงขอพาทุกท่านที่มีความฝันในการเป็นนักเขียนมาให้เห็นกันว่า การเขียนบทความให้ผู้อ่านและผู้จ้างประทับใจ เขาทำอย่างไรกันบ้าง

1.เขียนให้ประทับใจคนอ่าน 

นอกเหนือจากการตั้งชื่อเรื่องและคัดเลือกเนื้อหาที่จะนำมาเขียนให้มีความน่าสนใจแล้ว การจะเขียนบทความให้มีความน่าประทับใจนั้น จะต้องไม่ลืมวางแผนถึงแนวทางการเขียนที่ดี ตรงประเด็น ไม่เวิ่นเว้อและใช้ภาษาที่สามารถเข้าใจได้ง่าย หากเป็นคำศัพท์เฉพาะทาง ก็ควรอธิบายให้ผู้อ่านทั่วไปเข้าใจด้วย อาจจะเป็นการใช้อ้างอิงหรือวงเล็บต่อท้ายข้างหลังก็ได้ ฟังดูอาจจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่รู้มั้ยว่า จุดนี้เป็นจุดที่นักเขียนหลายคนใช้เวลาและใช้พลังในการวางพล็อตเรื่องนานที่สุด เพื่อให้ผู้อ่าน อ่านแล้วเกิดความประทับใจ

2.คำนำ ใครว่าไม่สำคัญ 

การเขียนคำนำที่ดี ควรคำนึงถึงการปูเนื้อเรื่องให้ผู้อ่านต้องการอ่านบทความในลำดับต่อไป ซึ่งเทคนิคง่ายๆก็คือ ผู้เขียนไม่ควรบอกถึงเนื้อหาที่จะเขียนทั้งหมด แต่ควรกล่าวให้เป็นประเด็นเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสนใจที่จะอ่านบทความ ตัวอย่างเช่น วันนี้จะมาพูดถึงเรื่องอะไร กล่าวคร่าวๆว่าเป็นอย่างไร ปิดท้ายด้วยประโยคเชิญชวน อาทิ ถ้าอยากทราบตามมาชมกันได้เลย / ว่าแล้วก็อย่ารอช้า / ใครอยากทราบ ต้องไม่พลาดในบทความนี้ ฯลฯ

3.มีความชัดเจนของเนื้อหา 

การเขียนบทความ แม้ในบางบทอาจมีความยาวไม่มากประมาณ 300 – 500 คำ แต่รู้หรือไม่ว่า ยิ่งบทความมีเนื้อหาที่สั้นมากเท่าไร ผู้เขียนก็ยิ่งต้องเข้าใจข้อมูลที่จะนำมาเขียนและอธิบายให้มีความกระชับและชัดเจนมากยิ่งขึ้น วิธีง่ายๆที่จะรู้ว่าผู้อ่านจะเข้าใจได้หรือไม่ นั่นคือ เมื่อเขียนเสร็จ ลองกลับมาอ่านอีกสักครั้ง ถ้าเข้าใจเนื้อหาที่ตัวเองเขียนอย่างชัดเจน แสดงว่า การเขียนบทความของคุณมีความชัดเจนแล้วนั่นเองและวิธีนี้ยังเป็นการตรวจทานคำผิด เว้นวรรค เพื่อความสละสลวยของบทความอีกด้วย

4.บทสรุปสุดประทับใจ 

การเขียนบทสรุปที่ดีไม่จำเป็นต้องมากเกินไปและไม่จำเป็นต้องสรุปเนื้อหาอีกครั้ง เพราะจะทำให้ดูเวิ่นเว้อ แต่แนะนำว่า ควรทิ้งท้ายไว้ให้ผู้อ่านได้ประทับใจและจำบทความของคุณได้ อาจจะสรุปเป็นประโยคสั้นๆ กระชับแต่เฉียบคมหรือทิ้งท้ายด้วยคติสอนใจก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งบทความที่มีคุณภาพนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบทสรุปเพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบถึงตอนจบของบทความ ส่วนใหญ่แล้วในส่วนนี้จะใช้ประมาณ 3 – 5 บรรทัดโดยประมาณ

5.ฝีกสิ่งเหล่านี้ให้เป็นนิสัย 

สิ่งที่ขาดไม่ได้ในทุกอาชีพคือ ซื่อสัตย์และตรงต่อเวลา เพราะบางบทความ ผู้จ้างจำเป็นจะต้องใช้โดยด่วน อาจจะเป็นวันต่อวันหรือภายใน 1 – 2 วัน แต่บางบทความก็จะให้เวลามากหน่อย บางครั้งเป็นเดือนเลยก็มี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผู้จ้างแต่ละคน ใครที่ไม่ถนัดงานด่วนก็ไม่ควรรับ เพราะเวลาที่ใช้ในการค้นคว้าข้อมูลและการเขียนมันน้อยเหลือเกิน อาจจะทำให้งานออกมาไม่มีคุณภาพได้และอาจจะไม่ได้รับงานจากผู้จ้างท่านนี้อีก ในทางกลับกัน หากทำงานดีก็จะมีงานป้อนเข้ามาเรื่อยๆ ไม่ขาดมือ จนบางครั้งคิวงานเต็มจนล้นไปถึงเดือนหน้าเลยทีเดียว

6.เขียนบทความให้มีคุณภาพ 

บทความก็คือสินค้า ผู้เขียนจึงเปรียบเสมือน พ่อค้า – แม่ค้าของผู้จ้าง ดังนั้น การส่งมอบสินค้าในแต่ละครั้งจึงควรมีคุณภาพ โดยคำว่า บทความคุณภาพ สามารถตรวจสอบได้จาก คุณภาพของเนื้อหาที่ต้องไม่เวิ่นเว้อ การตรวจทานคำถูกคำผิด การใช้เว้นวรรค การเป็นบทความที่สดใหม่หรือไม่มีการคัดลอกมาจากที่ไหน ความชัดเจนของเนื้อหาที่อ่านแล้วเข้าใจได้ง่ายๆ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนส่งเสริมให้บทความมีคุณภาพทั้งสิ้น ซึ่งนักเขียนที่ดีควรตรวจทานก่อนส่งมอบให้กับผู้จ้างก่อนทุกครั้ง

คำแนะนำ

หากใครที่ไม่เก่งภาษาไทย โดยเฉพาะการใช้คำถูก คำผิด สิ่งแรกที่ควรทำก็คือ ต้องอ่านเยอะๆ ซึ่งบทความบนโลกอินเตอร์เน็ตก็มีอยู่มากมายให้คุณได้เลือกอ่านกันตามความชอบ แม้บางอย่างจะไม่ชอบแต่ให้มันผ่านตาหน่อยก็ยังดี แล้วลองนำมาเรียบเรียง เติมแต่งให้เป็นสำนวนของตนเองดู ฝึกไปเรื่อยๆ ภาษาและสำนวนในแบบของคุณที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนก็จะมาเอง แต่ไม่ใช่ลอกมาทั้งบทความ อันนี้ไม่สนับสนุนและยังผิดต่อจรรยาบรรณของนักเขียนอีกด้วย

การเขียนบทความเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะในการเขียนและใช้พลังงานในการทำสูงมาก นักเขียนที่เขียนได้ เขียนเป็นและเขียนได้เงินจึงเกิดความภาคภูมิใจ เพราะแต่ละบทกว่าจะสามารถร้อยเรียงมาให้ผู้อ่านได้อ่านกันนั้น ล้วนต้องอาศัยเวลาในการค้นหาข้อมูล การวางโครงเรื่องและความคิดของผู้เขียน เพราะฉะนั้น ใครที่อยากเขียนบทความให้ผู้อ่านประทับใจและผู้จ้างอยากร่วมงานอย่างต่อเนื่องก็ควรฝึกฝนทักษะต่างๆของตนเองเพื่อจะได้มีความเป็นมืออาชีพในการเขียนบทความต่อไป

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เรื่องล่าสุด

ความเห็นล่าสุด